

กำลังขับรถเพลินๆ แต่จู่ๆ พวงมาลัยสั่น สั่นโดยไม่มีอะไรกั้น! เชื่อว่าผู้ใช้รถหลายคนคงเคยเจอกับ อาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากใช้รถไปสักระยะแล้ว ซึ่งอาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือนเป็นอีกหนึ่งปัญหายอดฮิตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ เช่น เมื่อแตะเบรก เมื่อเร่งความเร็ว หรือเมื่อเลี้ยวซ้าย-ขวา เป็นต้น โดยอาการที่เกิดขึ้นนี้เหล่านี้อาจทำให้คุณไม่มั่นใจในการขับขี่ ทั้งยังน่ารำคาญใจอีกด้วย วันนี้คาร์ฮีโร่จะพาคุณไปรู้จักกับอาการพวงมาลัยสั่น พร้อมทั้งวิธีเช็กอาการเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง
พวงมาลัยสั่น เกิดจากอะไร?
อาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือนที่เกิดขึ้นช่างน่ารำคาญใจ อีกทั้งยังต้องเปลืองแรงเกร็งไม่ให้พวงมาลัยสั่น มากจนอาจเกิดอันตรายในขณะขับรถได้ โดยปัญหานี้สามารถเกิดจากการเสื่อมสภาพของรถยนต์ที่ผ่านการใช้งานที่ยาวนานได้
แต่ก่อนจะหาวิธีแก้ จำเป็นต้องรู้ก่อนว่า พวงมาลัยสั่นเกิดจากสาเหตุอะไร เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยแต่สาเหตุที่ทำให้พวงมาลัยสั่นนั้นมีดังนี้
-
จานเบรกผิดปกติ
หากเกิดอาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือนในระหว่างที่คุณขับรถแล้วเบรก นั่นอาจหมายถึงจานเบรกของคุณมีปัญหา โดยปกติจานเบรกต้องมีหน้าจับสัมผัสที่เรียบสนิท เพื่อให้ในขณะเบรกจะมีความต่อเนื่องไม่สะดุดและไม่เกิดอาการพวงมาลัยสั่น
การที่จานเบรกผิดปกติอาจเกิดจากจานเบรกคด บิดเบี้ยว หรือผิดรูป ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้รถแล้วเกิดฝุ่นหนักๆ หรือเศษดิน หินขนาดเล็กเข้าไปติด ทำให้เกิดการเสียดสีไปเรื่อยจนผิวหน้าจานเบรกไม่เรียบ หรือความร้อนจากการเหยียบเบรกที่เกิดขึ้นบนจานเบรกอาจทำจานเบรกสึกหรอ คดเบี้ยว และผิวจานเบรกไม่สม่ำเสมอ ด้วยสาเหตุนี้เมื่อเวลาผ่านไปคุณเหยียบเบรกจะส่งผลถึงจานเบรก ทำให้เวลาเลี้ยวหรือเบรกจะเกิดการสะดุดไม่ราบรื่นจนคุณรู้สึกถึงอาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือน
-
ถ่วงล้อไม่ดี
ปัญหาพวงมาลัยสั่นที่พบเจอได้ในทั้งรถยนต์เก่าและใหม่ สามารถเกิดจากการถ่วงล้อไม่ดี ทำให้ล้อทั้ง 2 ด้านขาดความสมดุล ยิ่งรถมีความเร็วมากพวงมาลัยก็จะมีความสั่นมากตามไปด้วย หากว่าก่อนหน้านี้คุณไม่ได้เปลี่ยนใหม่ อาจเกิดจากตะกั่วถ่วงล้อที่เสื่อมสภาพและหายไปในระหว่างการขับขี่ เมื่อน้ำหนักจากตะกั่วหายไปการหมุนของล้อด้วยความเร็วจึงไม่สมดุล ทำให้คุณเลยรับรู้ถึงแรงมาลัยสั่นและสะเทือนของพวงมาลัยในขณะที่ขับรถ
-
ปลอกกันสั่นหลวม
เมื่อเราเปลี่ยนล้อมาใหม่ขนาดดุมของล้ออาจไม่เท่ากัน วิธีแก้ คือ การใส่ปลอกกันสั่นไว้ เพื่อให้ล้อกับดุมล้อเข้ากันได้พอดี หากปลอกกันสั่นคุณภาพต่ำ เมื่อใช้งานไปสักระยะก็จะเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วจนปลอกกันสั่นเกิดอาการหลวมส่งผลให้พวงมาลัยสั่นในขณะขับรถได้
-
ยางเสื่อมสภาพ
เมื่อใช้รถไปนานๆ ยางล้อรถที่ทำหน้าที่สัมผัสกับพื้นถนนจะเจอความร้อนสูง ทำให้ยางเปลี่ยนรูป ยางบวม หน้าสัมผัสไม่เรียบ หรือการโป่งพองในบางจุดของตัวยาง ยางเกิดการเสื่อมสภาพ ในขณะขับขี่เมื่อจุดบวมของยางสัมผัสกับพื้นถนนและแรงขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลถึงโครงสร้างตัวยางภายในให้ได้รับความเสียหายไปด้วย ทำให้ขับรถแล้วเกิดอาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือน และรู้สึกว่าขับรถตกหลุมตลอดเวลา
ทั้งนี้ สาเหตุที่ยางเสื่อม ยางบวมไม่ได้เกิดจากความร้อนหรือการใช้งานที่ยาวนานเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากการที่ใช้รถอย่างหนักหน่วงกระแทกตกหลุมอย่างรุนแรงได้เช่นกัน
-
ช่วงล่างมีปัญหา
รถที่มีอายุการใช้งานมาสักพักใหญ่ย่อมมีอาการเสื่อมของระบบช่วงล่างตามการใช้งานและระยะเวลาที่ผ่านไป
ช่วงล่างของรถเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้รถทรงตัวได้อย่างสมดุล หากช่วงล่างในส่วนที่ช่วยในการทรงตัวมีชิ้นส่วนที่หลวม หรือลูกยางบูทเสื่อม สามารถทำให้เวลาที่คุณขับขี่ จะเกิดอาการพวงมาลัยสั่น และควบคุมยากกว่าปกติ
-
ลูกปืนล้อหลวมหรือแตก
เมื่อติดตั้งชุดล้อเข้าไปภายในดุมล้อจะมีชุดดุมปืนอยู่ภายใน ซึ่งลูกปืนถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ช่วยในการหมุนของล้อ หากลูกปืนล้อหลวมหรือแตก เวลาล้อหมุนอาจเกิดเสียง เมื่อรถวิ่งไปก็จะได้ยินเสียงและมีระดับเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการใช้งานเป็นระยะเวลายาวนานหรือน้ำเข้า การที่ลูกปืนล้อหลวมหรือแตกสามารถทำให้พวงมาลัยสั่นได้ ซึ่งจะเกิดในจังหวะที่เลี้ยวรถเท่านั้น
-
ล้อแม็กผิดรูป
ล้อแม็กผิดรูป คือ การที่รูปทรงของล้อขาดความสมมาตรและไม่มีความกลมแบบปกติ โดยสาเหตุเกิดจากตัววงล้อได้รับการกระแทกรุนแรงในขณะที่ขับขี่ เช่น ตกหลุมอย่างรุนแรง ไม่เบรกตอนเจอลูกระนาด เวลาเข้าจอดข้างทางแล้วล้อเบียดกับฟุตบาท หรือรถชนฟุตบาทด้วยความรุนแรง ทำให้ล้อแม็กผิดรูปทรงและหน้ายางบิดเบี้ยว ส่งผลให้ยางจะไม่กลมเท่ากันทั้งล้อ เมื่อขับรถจะเกิดอาการพวงมาลัยสั่น และหากทิ้งไว้นานจนเกินไป อาจมีปัญหายางระเบิดตามมาได้
-
เพลาขับไม่สมดุล
รถยนต์ทุกรุ่นจะมีเพลาขับอยู่ ถ้าหากเพลาขับไม่สมดุลย่อมเกิดปัญหาตามมา สาเหตุของการที่เพลาขับไม่สมดุลมักมาจากการตกกระแทกอย่างแรง เพลาที่เชื่อมอยู่กับชุดดุมล้อ ซึ่งต่อกับระบบช่วงล่างของเครื่องยนต์จะได้รับแรงกระแทกอย่างแรงตามไปด้วย
หากเพลาขับไม่สมดุล เมื่อรอบหมุนสูงหรือถี่ขึ้น ทำให้เกิดแรงเหวี่ยง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือนได้ เมื่อขับไปด้วยความเร็วระดับหนึ่งแล้วพวงมาลัยสั่นเบาๆ ถ้าใช้ความเร็วที่มากขึ้นจะทำให้อาการพวงมาลัยสั่นรุนแรงขึ้นตามไปด้วย
อาการพวงมาลัยสั่นที่สังเกตได้ มีอะไรบ้าง?
เฮียจะพาคุณมาดูถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้พวงมาลัยสั่นเวลาขับรถ ซึ่งสร้างความรำคาญใจ และความรู้สึกไม่มั่นใจในการขับขี่ รวมถึง ความปวดเมื่อยที่เกิดจากการต้องเกร็งข้อมือคุมให้พวงมาลัยนิ่ง ซึ่งอาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือนนั้นคุณสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง โดยอาการพวงมาลัยสั่นนั้นสามารถบ่งบอกได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งเมื่อรู้ว่าพวงมาลัยสั่นเกิดจากอะไรก็จะแก้ไขได้ตรงจุด
-
พวงมาลัยสั่นเมื่อแตะเบรกเบาๆ
เมื่อแตะเบรกเบาๆ แล้วพวงมาลัยสั่น อาจแสดงถึงอาการจานเบรกคด อาการนี้ คือ อาการที่หน้าจานเบรกเกิดการสึกที่ไม่เสมอกัน
-
พวงมาลัยสั่นเมื่อแตะเบรกด้วยน้ำหนักมาก
เมื่อคุณแตกเบรกด้วยน้ำหนักมากแล้วเกิดอาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือน อาจแสดงถึงปัญหาจากระบบบังคับเลี้ยวส่วนใดส่วนหนึ่งได้ อย่างการที่ลูกหมากคันชักเกิดความสึกหรอ
-
พวงมาลัยสั่นเมื่อขับรถด้วยความเร็ว
เมื่อขับรถด้วยความเร็วใดความเร็วหนึ่งที่วิ่งปกติแล้วเกิดอาการพวงมาลัยสั่น โดยสาเหตุมาจากการถ่วงล้อไม่ดี การถ่วงล้อที่ไม่สมดุลทั้ง 2 ข้าง ยิ่งใช้ความเร็วมากยิ่งสั่นมาก
-
พวงมาลัยสั่นเมื่อเลี้ยวรถ
การที่พวงมาลัยสั่นในจังหวะเลี้ยวรถ แม้จะไม่รุนแรงเท่าความเสียหายจากล้อรถ แต่ก็ทำให้คุณรำคาญใจและอาจเกิดอันตรายได้ โดยสาเหตุมาจากลูกปืนดุมล้อเริ่มเสื่อมสภาพ
-
พวงมาลัยสั่นกินซ้าย หรือกินขวา
เมื่อขับรถแล้วเกิดอาการพวงมาลัยสั่นกินซ้ายหรือกินขวาเป็นสัญญาณที่เตือนให้เห็นว่า รถคุณตั้งศูนย์ถ่วงล้อไม่ตรง และการถ่วงล้อไม่ดี ทำให้ล้อทั้ง 2 ด้านขาดความสมดุล
สามารถแก้ไขปัญหาพวงมาลัยสั่นได้อย่างไรบ้าง?
เมื่อรู้ถึงสาเหตุของการที่พวงมาลัยสั่นแล้ว ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยและเสริมความมั่นใจให้กลับคืนมา โดยเฮียจะพาคุณไปดูในแต่ละวิธีการแก้ปัญหาที่สามารถแก้ไขอาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือนจากสาเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้
-
เปลี่ยนจานเบรกใหม่
หากพวงมาลัยสั่นมีสาเหตุมาจากจานเบรก อย่างจานเบรกคดอันเนื่องมาจากผิวจานเบรกไม่สม่ำเสมอกันและมีการสึกหรอ สามารถทำการแก้ไขได้ด้วยการเจียรหน้าสัมผัสของจานเบรกให้เรียบเสมอกัน ทั้งนี้ หากไม่ดีขึ้นค่อยทำการเปลี่ยนจานเบรกใหม่ทั้งชุด
-
ถ่วงล้อให้สมดุล
หากถ่วงล้อไม่สมดุล สามารถแก้ไขได้ด้วยการไปที่ร้านปะยางหรือไปศูนย์ฯ เพื่อให้ช่างผู้เชี่ยวชาญทำการถ่วงล้อให้ใหม่ เพื่อปรับความสมดุลให้เท่ากันทั้ง 2 ข้าง
-
ใส่ปลอกกันสั่น
หากเปลี่ยนล้อใหม่ และดุมล้อไม่เท่ากัน จะเกิดอาการพวงมาลัยสั่นได้ จำเป็นต้องใส่ปลอกกันสั่นที่มีคุณภาพ เพื่ออายุการใช้งานที่ยาวนาน
-
เปลี่ยนยางใหม่
หากอาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือนมีสาเหตุมาจากยางเสื่อมสภาพ หรือเสียรูปทรง ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเปลี่ยนยางให้ใหม่
-
ตรวจเช็กช่วงล่าง
อีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำหากรถมีปัญหาพวงมาลัยสั่น คือ การเข้าศูนย์บริการและตรวจเช็กช่วงล่างดูว่าชิ้นส่วนต่างๆ หลวมหรือไม่ จากนั้นทำการแก้ไขให้ชิ้นส่วนเหล่านั้นกลับมาเข้าที่และแน่นหนาโดยด่วน
-
เปลี่ยนลูกปืนล้อใหม่
ไปหาช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบลูกปืนว่าเกิดการเสียหายและหลวมหรือไม่ โดยสามารถแก้ไขด้วยการใส่จาระบี เพื่อเพิ่มความหล่อลื่น ทำให้ใช้งานดังเดิมได้หรือไม่ หรือเพิ่มความแน่นของลูกปืนล้อได้ ทั้งนี้ หากลูกปืนแตกต้องทำการเปลี่ยนใหม่
-
แก้ไขหรือเปลี่ยนล้อแม็กใหม่
ถ้าล้อแม็กผิดรูป เช่น บุบเบี้ยว แต่ไม่เสียหายมาก สามารถแก้ไขได้ด้วยช่างที่มีความเชี่ยวชาญ โดยใช้ความร้อนสูง เคาะ และนำไปกลึงให้เข้ารูป ซึ่งตัวแม็กจะบางลง การแก้ไขโดยวิธีนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงในการเปลี่ยนล้อแม็ก แต่ถ้าร้าวเยอะไม่สามารถแก้ไขได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนล้อแม็กใหม่แทน
-
ปรับเพลาขับให้สมดุล
หากพวงมาลัยเริ่มสั่นเบาๆ จนรู้สึกได้ ให้ทำการปรับเพลาขับให้สมดุล เพื่อความเสถียรในการขับรถ
ปัญหาน่ารำคาญใจอย่างพวงมาลัยสั่นนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น จานเบรก ช่วงล่าง ยาง หรือส่วนอื่นๆ ของรถที่สามารถส่งผลให้เกิดอาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือน หากปล่อยไว้ทำให้ควบคุมรถได้ยากขึ้นอาจเกิดอันตรายขณะขับขี่ได้ ดังนั้น จึงควรตรวจเช็กสภาพรถเป็นประจำและหมั่นสังเกตอาการของรถอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของคุณและเพื่อนร่วมทาง