

ผู้ที่มีรถมือสองหรือพึ่งซื้อรถมือสองมาแล้วอาจสงสัยว่าซื้อรถมือสองจะต้องหรือสามารถทำประกันได้ไหม แล้วการทำประกันรถมือสองจะต้องดูอะไร หรือมีเงื่อนไขแตกต่างอย่างไรบ้าง ในบทความนี้ก็จะรวบรวมคำตอบเรื่องน่ารู้ของประกันรถมือสองมาให้อ่านกัน
รู้จักกับประกันภัยรถยนต์ อีกหนึ่งตัวเลือกเพื่อคุ้มครองรถยนต์
การทำประกันภัย คือ การทำเงื่อนไขคุ้มครองค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไขของประกัน ซึ่งจุดประสงค์หลักในการซื้อประกันภัยรถยนต์ คือ การสร้างความอุ่นใจ ในยามขับขี่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จนมีการได้รับบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหาย โดยการมีประกันคุ้มครองที่เหมาะสมหมายความว่าจะไม่เหลือค่าใช้จ่ายก้อนโตให้ตัวเองต้องเดือดร้อน ทุกอย่างจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของประกันแทน ด้วยวิธีนี้ การขับรถบนถนนก็จะไม่ต้องกังวลถึงปัญหาเรื่องเงินที่อาจจะมาซ้ำเติมเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น
ประกันนอกจากจะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากอุบัติเหตุแล้ว หลายๆ กรมธรรม์ยังให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น ช่วยระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สิ่งนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกเอาเปรียบเพียงเพราะขาดความรู้ทางกฎหมาย เนื่องจากบริษัทประกันภัยจะว่าจ้างทนายความที่เชี่ยวชาญในการยุติการเรียกร้องอย่างรวดเร็ว และทั้งสองฝ่ายพึงพอใจได้
ประเภทของประกันภัยรถยนต์
ประกันรถไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งหรือมือสองนั้น ล้วนมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ
ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับเป็นประกันที่ผู้ครอบครองหรือเจ้าของรถยนต์ทุกคันจะต้องมี ซึ่งเป็นหน้าที่ทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ คือ การประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือที่เรียกว่า “การประกันภัย พ.ร.บ.” (เว้นแต่ รถที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจาก
รถ พ.ศ. 2535 ระบุยกเว้นไว้ เช่น รถของสำนักพระราชวัง รถสำหรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ รถของกระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น)
ทั้งนี้ หากเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถไม่ทำประกันภัยตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนด จะมีโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (ปรับไม่เกิน 10,000 บาท) เช่นเดียวกับกฎหมายต่างๆ ข้อบังคับนี้ก็มีอยู่ เพื่อที่จะช่วยปกป้องประชาชนเวลาที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างขับรถให้ได้รับการชดใช้และเยียวยาความสูญเสียหรือเสียหายที่เกิดขึ้น
การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนั้นเป็นการประกันที่ไม่ได้ถูกบังคับตามกฎหมาย แต่สามารถทำขึ้นเพิ่มเติมตามความต้องการของผู้ครอบครองรถยนต์ได้ โดยการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจแบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก คือ
- การประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 ที่จะให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุม และสูงที่สุดในทุกประเภท โดยคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ความเสียหายต่อทรัพย์สิน รถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ และคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์
- การประกันภัยรถยนต์ ประเภท 2 จะมีความคุ้มครองใกล้เคียงกับการประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 แต่จะต่างกัน ที่ไม่มีความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์
- การประกันภัยรถยนต์ ประเภท 3 ให้ความคุ้มครองน้อยกว่าการประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 และประเภท 2 โดยประกันภัยจะคุ้มครองเฉพาะความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น และจะไม่มีการคุ้มครองในกรณีรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์
- การประกันภัยรถยนต์ ประเภท 4 หรือ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก โดยคุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 100,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง
- การประกันภัยรถยนต์ ประเภท 5 หรือ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คุ้มครองภัยเฉพาะ โดยสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 แบบ คือ
- แบบประกัน 2 พลัส (2+) ให้ความคุ้มครองรับผิดชอบต่อความเสียหายแบบประกันภัยรถยนต์ ประเภท 2 ที่ไม่มีความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ แต่ประกันภัยรูปแบบนี้จะเพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย กรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และต้องมีคู่กรณีจึงจะใช้ได้
- แบบประกัน 3 พลัส (3+) ให้ความคุ้มครองรับผิดชอบต่อความเสียหายแบบประกันภัยรถยนต์ ประเภท 3 ซึ่งจะไม่มีการคุ้มครองรถยนต์ในกรณีสูญหาย ไฟไหม้ และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ แต่เพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย กรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และต้องมีคู่กรณีจึงจะใช้ได้
ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นตัวเลือกประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจที่มีอยู่ หลายครั้งจะถูกเรียกว่าประกันชั้น 1, 2 หรือ 3 แทนประกันประเภท 1, 2 หรือ 3 แต่ให้รู้ไว้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน จะเห็นได้ว่าความต่างของแต่ละประกันจะอยู่ที่เงื่อนไขการคุ้มครองจะไม่เท่ากันในแต่ละแบบ จึงควรศึกษาให้ดี เพื่อที่จะเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการ
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำประกันรถมือสอง
รถมือสองอาจมีประกันเดิมหรืออาจจะไม่มีก็ได้ ซึ่งหากมีประกันเดิมก็อาจจะใช้ประกันเดิมต่อได้ แต่หากไม่มีหรือต้องการจะเปลี่ยนประกันใหม่ ก็สามารถทำได้เช่นกัน หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าซื้อรถมือสองมาต้องทำประกันไหม หรือรถมือสองใช้ประกันชั้น 1 ได้ไหม หรือควรใช้ชั้นไหน ข้อสังเกตต่อไปนี้ก็จะช่วยชี้ว่าควรเลือกใช้ประกันประเภทไหนกับรถมือสองดีให้ได้รู้กัน
อายุรถยนต์
อายุรถยนต์เป็นตัวสะท้อนสภาพเครื่องยนต์ และมีผลต่อการทำประกันรถมือสอง ทำให้รูปแบบการทำแผนประกันภัยรถยนต์ต้องคำนึงถึงอายุของรถมือสองร่วมด้วย ว่ามีอายุการใช้งานมานานแค่ไหนแล้ว
- ประกันรถยนต์อายุ 1-5 ปี
โดยปกติรถที่อายุประมาณหนึ่งถึงสองปีจะต้องทำประกันชั้น 1 ตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัทสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งรถยนต์ที่อายุน้อยแบบนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกขโมย หรือสูญหายมากที่สุด ทำให้การทำประกันชั้น 1 ที่คุ้มครองเรื่องของการสูญหายก็จัดว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากอยากประหยัดค่าเบี้ยประกัน ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ประกันชั้น 2 ได้ หลังจากหมดระยะบังคับประกันชั้น 1 แล้ว ซึ่งก็คุ้มครองครอบคลุมไปถึงเรื่องของรถสูญหายด้วยเช่นกัน
- ประกันรถยนต์อายุ 5-10 ปี
สำหรับรถยนต์ที่อายุ 5-10 ปี การทำประกันชั้น 1 นั้นเริ่มจะไม่ค่อยมีความจำเป็นแล้ว สามารถเปลี่ยนมาใช้ประกันชั้น 2 ได้ที่จะคุ้มครองได้ใกล้เคียงกับประกันชั้น 1 โดยที่มีค่าเบี้ยประกันถูกและคุ้มค่ากว่าสำหรับรถที่เก่าแล้ว แต่หากเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาประกันชั้น 1 ก็ยังสามารถใช้ได้อยู่กับรถทุกอายุทุกรูปแบบ
- ประกันรถยนต์อายุเกิน 10 ปีขึ้นไป
สำหรับรถยนต์อายุเกิน 10 ปี ประกันชั้น 1 อาจจะเริ่มไม่รับประกันแล้ว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพรถและประวัติการเกิดอุบัติเหตุของรถแต่ละคันด้วย ทำให้รถยนต์อายุเกิน 10 ปีมักจะเหมาะกับประกันชั้น 2 หรือประกันชั้น 3+ มากกว่า โดยที่ประกันชั้น 2 จะยังครอบคลุมครบถ้วนอยู่เหมือนเดิม ในขณะที่ประกันชั้น 3+ อาจจะมีการครอบคลุมที่จำกัดขึ้นแลกกับเบี้ยประกันที่ถูกลงไปอีก
- ประกันรถยนต์อายุเกิน 15 ปีขึ้นไป
สำหรับรถยนต์อายุเกิน 15 ปี จะเหมาะกับการใช้ประกันชั้น 2 หรือประกันชั้น 3+ มากกว่า เมื่ออายุมากขึ้นความเสี่ยงของการที่รถจะสูญหายหรือถูกขโมยก็น้อยลงไปด้วย ทำให้อาจจะให้น้ำหนักกับประกันชั้น 3+ มากขึ้นเพื่อเป็นการประหยัดเบี้ยประกัน
- ประกันรถยนต์อายุเกิน 20 ปีขึ้น
สำหรับรถยนต์อายุเกิน 20 ปี อาจจะใช้ประกันชั้น 3 แทนเลยก็ได้ ซึ่งจะมีการคุ้มครองที่น้อยที่สุดและในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุโดยที่เราเป็นฝ่ายผิดนั้นก็จะจ่ายค่าช่วยเหลือเยียวยาให้กับฝั่งที่ไม่ผิดอย่างเดียวด้วย ซึ่งมาพร้อมกับเบี้ยประกันภัยที่ถูกมากๆ
ค่าใช้จ่ายที่มากับรถยนต์
ค่าใช้จ่ายของรถยนต์นั้นก็จะมีผลต่อการตัดสินใจว่าจะทำประกันภัยรถยนต์ประเภทไหนดี กำลังทรัพย์ของแต่ละคนก็อาจจะมีไม่เท่ากัน จึงควรจะคำนวณสิ่งเหล่านี้เข้าไปด้วยก่อนที่จะเลือกประกันภัย เพราะค่าเบี้ยประกันนั้นจะเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่บวกเพิ่มเข้ามากับรถยนต์ด้วย จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับกำลังใช้จ่ายของตัวเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ควรรู้ก็ได้แก่
- ค่า พ.ร.บ. รายปี หรือ ค่าประกันรถยนต์ภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย ปีละ 600-1,200 บาท บางครั้งก็จะพ่วงมากับค่าประกันอื่นๆ หรือต้องจ่ายแยกแล้วแต่สัญญาประกัน
- ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ เฉลี่ยปีละ 1,500 ถึง 3,000 บาท และยิ่งเสียมากตามขนาดของรถยนต์ สำหรับรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 7 ปีก็จะต้องนำรถเข้าไปตรวจสภาพด้วย
- ค่าประกันภัยรถยนต์ โดยเฉลี่ยจะเริ่มต้นที่ประมาณ 6,500 บาท ถ้าประกันชั้น 1 สำหรับรถยนต์ทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ ปีละ 12,000-20,000 บาท ยิ่งรถแพงเท่าไหร่ ค่าเบี้ยประกันก็ยิ่งแพงขึ้นไปอีก
- ค่าบำรุงรักษาสภาพรถยนต์ เฉลี่ยทุก 6-12 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร ปีละ 5,000-10,000 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ อายุการใช้งาน รุ่นของรถ และการถนอมของแต่ละคนด้วย แต่โดยภาพรวม หากเป็นรถที่มีความซับซ้อนมากหรือมีอายุมากก็จะเสียค่ารักษาสภาพรถยนต์มากตามไปด้วย
- ค่ายางรถยนต์ ยางรถยนต์ควรจะเปลี่ยนทุกๆ 2 ปี หรือ 50,000 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับการใช้งาน โดยราคายางรถยนต์ มีตั้งแต่ชุดละไม่เกิน 10,000 บาท จนถึง หลายหมื่นบาท ตามรุ่น ยี่ห้อ หรือขนาดของยาง แต่โดยเฉลี่ยจะมีราคาอยู่ที่ชุดละ 10,000-20,000 บาท
- ค่าน้ำมัน ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน แต่สำหรับคนที่ใช้รถยนต์อยู่ทุกวันอาจจะมีค่าน้ำมันตกอยู่ที่ประมาณเดือนละ 3,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของรถและยี่ห้อของรถด้วยว่ามีความกินน้ำมันมากแค่ไหน
- ค่าทางด่วน สำหรับคนที่เดินทางใกล้ไกลอยู่เป็นประจำอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางด่วนจนเป็นค่าใช้จ่ายประจำ จึงควรจะคิดรวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้เข้าไปด้วย โดยการขึ้นทางด่วนหนึ่งครั้งจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 50-100 บาท หากขึ้นทางด่วนทุกวัน ค่าทางด่วนแต่ละเดือน อาจอยู่ที่ 3,000-4,000 บาท
- ค่าที่จอดรถ สำหรับคนที่ไม่มีที่จอดรถประจำเป็นของตัวเองอาจจะต้องจ่ายค่าจอดรถหรือค่าบำรุงรักษาอยู่เรื่อยๆ การเสียค่าเช่าที่จอดรถประจำ ในราคา 1,500-5,000 บาทต่อเดือน จึงอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายประจำอีกอันหนึ่งก็ได้
- ค่าล้างรถ ขึ้นอยู่กับว่าใช้บริการล้างรถหรือล้างรถด้วยตัวเอง หากพึ่งบริการล้างรถต่อเดือนอาจตกเดือนละหลายพันบาทก็เป็นได้
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เงินเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจจะตามมาจากการขับรถ เช่น ค่าปรับจราจร ค่าใช้จ่ายในการแต่งรถ ค่าอุปกรณ์ติดรถต่างๆ ที่อาจจะตามมากับการใช้รถด้วย
ลักษณะการใช้งานรถยนต์
พฤติกรรมการใช้งานรถยนต์ก็สามารถส่งผลต่อการเลือกทำประกันได้ สำหรับรถที่ไม่ค่อยใช้เดินทางนั้นอาจจะต้องกังวลเรื่องการสูญหายมากกว่าอุบัติเหตุ ในขณะที่รถยนต์ที่มีการใช้งานทุกวันก็อาจจะต้องเป็นห่วงเรื่องอุบัติเหตุมากกว่า ในบางกรณีลักษณะของการใช้งานรถยนต์ก็จะเป็นเหตุให้ทางประกันสามารถไม่รับแจ้งเรื่องเคลมประกันได้ เช่น การเมาแล้วขับ ผู้ขับขี่ไม่มีใบขับขี่ หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่ หรือใช้รถทำสิ่งผิดกฎหมาย
การดูแลรักษารถยนต์
การดูแลรักษาที่ดีเป็นหนึ่งในวิธียืดอายุการใช้งานรถยนต์ ที่มีผลต่อการเลือกใช้ประกันด้วย โดยวิธีการดูแลรถยนต์ก็มีหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น
- เช็กลมยางอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นเติมลมให้พอดี จะช่วยป้องกันการสึกหรอของยาง
- เปลี่ยนน้ำมันเครื่องอย่างน้อยทุกๆ 1 เดือน หรือหากใช้รถบ่อย ก็ควรเปลี่ยนทุก 2 สัปดาห์ได้จะยิ่งดี
- ไม่ใช้งานรถหนักเกินไป ผ่านการบรรทุกของหรือคนเกินจำนวนที่เหมาะสมกับรถ
- ทำความสะอาดห้องโดยสารเป็นประจำ ด้วยเครื่องดูดฝุ่น ผลิตภัณท์การทำความสะอาดหนังที่เหมาะสมกับรถ
- เลือกประกันภัยที่เหมาะสมกับรถ ประกันภัยที่ดีนั้นจะครอบคลุมถึงค่าเปลี่ยนอะไหล่ของรถเวลาเกิดอุบัติเหตุด้วย ซึ่งจะช่วยให้การบำรุงรักษารถมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปด้วย และถึงแม้จะดูแลรักษารถยนต์ดี แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายบานปลายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ การทำประกันภัยรถยนต์ก็ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจอยู่ดี
หากซื้อรถมือสอง สามารถทำประกันชั้น 1 ได้หรือไม่
คำถามคาใจสำหรับใครหลายคนที่ไม่รู้ว่ารถมือสองทำประกันชั้น 1 ได้ไหม ซึ่งคำตอบของคำถามนั้นคือ ทำได้ ซึ่งก็ต้องดูกันไปตามความเหมาะสม โดยประกันรถยนต์ชั้น 1 จะเหมาะกับรถยนต์มือสองที่สภาพยังใหม่อยู่ หรือมีสภาพที่ดี มีการใช้งานอยู่เรื่อยๆ ทำให้ควรจะเลือกประกันที่ครอบคลุมทั้งอุบัติเหตุและการสูญหาย ซึ่งการนำรถมือสองไปทำประกันชั้น 1 จำเป็นต้องดูเงื่อนไขของบริษัททำประกันภัยรถยนต์ร่วมด้วย เพราะแต่ละที่เองก็อาจจะมีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน
ประกันรถยนต์มือสองเหมาะกับใครบ้าง
การทำประกันรถยนต์ชั้น 2+ นั้นก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับรถมือสอง ที่อาจจะไม่เสี่ยงต่อการหาย หรือมีความเสี่ยงว่าราคาจะตกเท่ากับรถมือหนึ่ง โดยการทำประกันชั้น 2+ นั้นก็เหมาะกับคนหลายๆ แบบ เช่น
- คนที่ต้องการประหยัดเงิน จากการลดค่าจ่ายเบี้ยประกัน
- คนขับรถที่มีประสบการณ์สูง เพราะประกันชั้น 2+ แม้จะดูแลทั้งอุบัติเหตุรถชนรถ ภัยธรรมชาติ รถน้ำท่วม แผ่นดินไหว รถยนต์สูญหาย แต่ก็จะไม่คุ้มครองเหตุการณ์ที่ระบุคู่กรณีไม่ได้ เช่น ขับรถชนต้นไม้ ซึ่งจะต้องจ่ายค่าซ่อมแซมเอง
- คนที่ใช้รถไม่บ่อย ส่วนใหญ่จอดไว้บ้าน ที่จะไม่ต้องเจอกับภัยอันตรายอยู่เรื่อยๆ จนไม่จำเป็นต้องใช้ประกันชั้นที่แพงขึ้น
ซื้อรถมือสองควรทำประกันไหม หากไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น
หากเลือกที่จะไม่ทำประกันภัยรถยนต์แล้ว ก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือที่จะตามมาจากการทำประกันภัยรถยนต์ และอาจจะมีผลไม่ดีตามมาบ้าง ซึ่งจะสามารถยกตัวอย่างผลที่ตามมาได้ดังนี้
- อาจเผชิญกับความเครียดอย่างมากในระยะยาว เพราะความเป็นกังวลที่จะตามมาทุกครั้งที่ใช้รถยนต์ที่ไม่มีประกันคุ้มครอง จนทำให้ต้องระมัดระวังตลอดเวลา
- การสูญเสียเงินจำนวนมากก็จะเป็นผลที่ตามมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น
- ความเสี่ยงต่อการต้องขึ้นศาล หรือความจำเป็นที่จะต้องจ้างทนายเวลามีอุบัติเหตุแล้วตกลงกันไม่ได้ เนื่องจากขาดคนเจรจา สู้คดีกับศาล
- เวลาเกิดภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วม ไฟไหม้ หรือรถสูญหาย ก็จะไม่สามารถได้ค่าชดเชยได้ง่ายๆ ยิ่งถ้าไม่มีคู่กรณีที่เรียกร้องค่าเสียหายได้ ก็แทบจะเสียรถไปอย่างสูญเปล่าเลยทีเดียว
สำหรับใครที่มีคำถามว่า ซื้อรถมือสองต้องทำประกันไหม? ก็คงได้คำตอบไปแล้วว่า สามารถทำประกันรถได้ โดยในการเลือกประกันรถมือสองจะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น อายุรถยนต์ หรือลักษณะการใช้งานรถยนต์ เพื่อที่จะเลือกประเภทของประกันที่เหมาะสมกับรถของตัวเอง ที่เมื่อคิดไตร่ตรองได้ดีแล้วก็จะให้ความคุ้มค่าสูงสุด