

ใครที่กำลังจะตัดสินใจซื้อรถมือสองต้องเคยได้ยินคำว่า โอนลอยรถยนต์ กันแน่ๆ เพราะการโอนรถประเภทนี้มักนิยมใช้ในการซื้อขายรถมือสอง ซึ่งแน่นอนว่าหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ความหมายที่แท้จริง หรือยังสงสัยและมีคำถามในใจว่า จริงๆ แล้ว โอนลอยคืออะไร วิธีโอนลอยรถยนต์มีขั้นตอนที่ยุ่งยากไหม รวมทั้งทำอย่างไรให้การโอนรถลอยนั้นปลอดภัยไม่เสี่ยงคุก ซึ่งทางคาร์ฮีโร่ก็ได้เตรียมคำตอบของทุกคำถามที่คุณสงสัยมาให้แล้วในบทความนี้!
โอนลอยคืออะไร ต่างจากโอนตรงอย่างไร
โดยหลักการแล้ว การโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือรถยนต์ หรือทรัพย์สินอื่นๆ นั้น เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าของเดิมและผู้ครอบครองรายใหม่ ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์โดยหลักการมี 2 รูปแบบ คือการโอนตรงและการโอนลอย แล้วทั้ง 2 แบบแตกต่างกันอย่างไร? เรามาหาคำตอบกัน
แบบแรกคือการโอนตรง เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งมีการดำเนินการอย่างเป็นทางการกับหน่วยงานราชการ ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมและเจ้าของกรรมสิทธิ์ใหม่ต้องไปลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ และมีการระบุชื่อผู้ครอบครองใหม่อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ก็มีการโอนอีกรูปแบบที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างกันเอง โดยไม่ผ่านหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งก็คือแบบที่สองมักจะเรียกกันว่าการโอนลอยรถนั่นเอง ซึ่งเป็นการระบุเพียงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมโดยยังไม่ได้ระบุชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ใหม่ หรือผู้รับโอน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกต่อการซื้อขาย เพราะผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำการซื้อหรือขายกันได้เลย
เอกสารโอนลอยต้องใช้อะไรบ้าง
ก่อนที่จะไปดูวิธีโอนลอยรถยนต์ หลายๆ ท่านอาจสงสัยว่าแล้วอย่างนี้ การโอนลอยจะมีผลได้อย่างไร? ในเมื่อไม่มีการระบุกรรมสิทธิ์ผู้ถือครองรายใหม่ ไม่ต้องเป็นห่วงไป เพราะการโอนลอยก็ต้องมีการทำเอกสารสัญญาเพื่อให้เกิดความชอบธรรมและสามารถเรียกร้องสิทธิ์ได้ เมื่อได้ทำการชำระมูลค่าทรัพย์สินจนครบตามจำนวนแล้ว ลองมาเช็กดูก่อนว่าเอกสารอะไรบ้างที่ต้องเตรียมไว้เพื่อการโอนลอย?
-
เล่มทะเบียนรถตัวจริง
เล่มทะเบียนรถตัวจริงก็คือ เอกสารที่ระบุถึงรายละเอียดของรถยนต์คันนั้น ไม่ว่าจะเป็น ยี่ห้อ รุ่น สี ทะเบียน เลขตัวถังรวมไปถึงรายละเอียดการจดทะเบียนตัวรถ การต่อภาษีรถยนต์รายปี ซึ่งเล่มทะเบียนรถนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการถือครองกรรมสิทธิ์ของเจ้าของรถอีกด้วย แต่หากทำเล่มทะเบียนรถหายก็สามารถเดินทางไปที่กรมขนส่งเพื่อขอทำเล่มใหม่ได้
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการตกลงทำการซื้อหรือขายรถยนต์โดยวิธีการโอนลอยรถยนต์ ผู้ซื้อต้องตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ที่ระบุในเล่มทะเบียนรถอย่างละเอียด โดยเฉพาะในส่วนของชื่อผู้ถือครองกรรมสิทธิ์จะต้องตรงตามบัตรประชาชน อีกทั้งในส่วนของการต่อภาษีทะเบียนรายปี รายละเอียดตัวรถ เพื่อให้มั่นใจว่ารถยนต์คันนั้นถูกต้องตามกฏหมาย
-
หนังสือสัญญาซื้อ-ขายรถ
ในการเช่าหรือซื้อทรัพย์สินทุกชนิด เอกสารโอนลอยที่มีความสำคัญอย่างมากคือ สัญญาการเช่า หรือการซื้อหรือขาย ซึ่งคุณสามารถหาได้หรือพิมพ์ขึ้นมาเองได้ แต่โดยหลักการแล้ว จะต้องระบุรายละเอียดผู้ซื้อ ผู้ขาย รายละเอียดตัวรถ รายละเอียดสัญญา และจะต้องมีการลงนามในสัญญา โดยมีพยานรู้เห็นการลงนามร่วมด้วย
-
แบบคำขอโอนและรับโอน
แบบคำขอโอนและรับโอนคือ เอกสารโอนลอยที่ออกโดยกรมการขนส่งทางบก เป็นเอกสารที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ โดยระบุรายละเอียดของผู้โอน ผู้รับโอน และรายบะเอียดของรถยนต์ที่จะทำการโอน พร้อมทั้งระบุรายการเอกสารที่แนบเพื่อการโอน พร้อมทั้งมีการลงรายมื่อชื่อของทั้ง 2 ฝ่าย
-
สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนของผู้ขาย
เอกสารสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ขายจะต้องระบุรายละเอียดชื่อ สกุลของผู้ขาย รวมทั้งเลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ถูกต้องตรงกัน รูปถ่ายที่เห็นใบหน้าชัดเจน ทั้งนี้เอกสารสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนต้องขีดคร่อม โดยระบุว่าใช้เพื่อการซื้อหรือขายรถยนต์ เลขทะเบียนอะไร พร้อมทั้งลายเซ็นที่ถูกต้อง ชัดเจน ในกรณีที่ผู้ขายได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางราชการ เช่น เปลี่ยนชื่อ หรือหย่าร้าง จะต้องแนบเอกสารต่างๆ เหล่านี้ด้วย (ใบเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล, หนังสือหย่า, ใบมอบมรดก เป็นต้น)
-
หนังสือมอบอำนาจ
หนังสือมอบอำนาจคือ เอกสารที่ใช้เพื่อมอบสิทธิ์ในการทำธุรกรรมต่างๆ แทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือเพื่อดำเนินการทางกฏหมายใดๆ ในนามของเจ้าของกรรมสิทธิ์ เป็นการยืนยันว่าธุรกรรมเหล่านั้นมีผู้อื่นที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการแทนตัวเจ้าของ
-
หนังสือยินยอม
หนังสือยินยอม เป็นเอกสารขอใช้รถในทะเบียนบ้านเดิมของเจ้าของรถ หรือการหาเจ้าบ้านที่มีชื่อ-ที่อยู่ในเขตที่ต้องการขอใช้ทะเบียนรถและลงลายมือชื่อ ทั้งนี้จะต้องแนบสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนที่เซ็นอย่างถูกต้องอีกอย่างละหนึ่งชุด
-
ใบเสร็จต่างๆ
ใบเสร็จเป็นเอกสารยืนยันการทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นจากเจ้าของเดิมกับห้างฯ ร้านเดิมที่ทำการซื้อขายสิทธิ์กัน หรือใบเสร็จในการทำธุรกรรมในการทำการโอนลอยครั้งนี้ เพื่อยืนยันว่าผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ได้ทำการชำระเงินเพื่อกระทำธุรกรรมใดไปบ้างแล้ว และแต่ละธุรกรรมมีการชำระเงินเป็นจำนวนเท่าไร เพื่อเป็นหลักฐานในการยืนยันว่ามีการซื้อ-ขายกันจริง
วิธีโอนลอยรถยนต์ ทำอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่เสี่ยงคุก
การซื้อขายรถยนต์โดยการโอนลอยนั้นสะดวกสบายสำหรับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะเมื่อทำเอกสารการโอนลอยสำหรับการซื้อหรือขายรถยนต์แล้ว ผู้ขายสามารถรับเงินจากผู้ซื้อได้ทันที และเพื่อให้การโอนลอยนั้นปลอดภัย จำเป็นต้องเตรียมเองสารต่างๆ ให้พร้อมตามที่ระบุไว้ในข้างต้น แต่สำหรับขั้นตอนหรือวิธีโอนลอยรถยนต์ สามารทำได้ดังนี้
1. ตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วน: เอกสารที่ต้องมีการเซ็นยืนยัน จะต้องเซ็นให้ถูกต้องและครบถ้วน
2. เซ็นเอกสารเพื่อมอบสิทธิ์ในการโอนลอย: โดยเซ็นให้ชัดเจน และจะต้องมีพยานยืนยันด้วย
3. ตรวจสอบเอกสารก่อนรับโอน: โดยเอกสารจะแบ่งออกเป็นหนังสือสัญญาซื้อขาย เล่มทะเบียนรถตัวจริง สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถคนล่าสุด พร้อมลายเซ็นถูกต้อง สำเนาบัตรประชาชนของผู้ซื้อ พร้อมลายเซ็นถูกต้อง (ในกรณีที่เจ้าของขายตรงให้กับผู้ซื้อ) สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของรถคนล่าสุด พร้อมลายเซ็นถูกต้อง แบบคำขอและรับโอนจากกรมการขนส่งทางบก พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด และหนังสือมอบอำนาจจากกรมการขนส่งทางบก
4. เซ็นรับโอน: ขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะได้เป็นเจ้าของรถคือ การเซ็นเอกสารรับโอน
ข้อดีและความเสี่ยงของการโอนลอยรถ
หากผู้ซื้อและผู้ขายรถยนต์มีความประสงค์จะทำการซื้อหรือขายรถยนต์โดยใช้วิธีการโอนลอยแล้วนั้น ควรศึกษาถึงข้อดีและความเสี่ยงของการโอนลอยก่อน เพราะหากไม่ศึกษารายละเอียดให้ดีแล้วอาจส่งผลเสียตามมาก็เป็นได้
ข้อดีของการโอนลอย
- สะดวกต่อการซื้อหรือขายรถยนต์โดยผ่านคนกลาง เพราะผู้ที่ต้องการขายสามารถโอนลอยให้กับคนกลางเพื่อทำการซื้อหรือขายกับลูกค้า และสะดวกต่อการโอนสิทธิ์เมื่อมีการตกลงซื้อหรือขาย
- ในกรณีที่ผู้ซื้อทำการซื้อตรงจากผู้ขายในลักษณะของการโอนลอย ช่วยทำให้ประหยัดเวลาได้ เนื่องจากผู้ขายสามารถเซ็นเอกสารการโอนลอยไว้ แล้วให้ผู้ซื้อไปดำเนินการเรื่องการโอนเองได้เลย
ความเสี่ยงในการโอนลอย
เนื่องจากการโอนลอยคือ การโอนโดยที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์เดิมเซ็นยินยอมโอนสิทธิ์ โดยไม่มีผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ โดยทางกฏหมายจึงถือว่าเจ้าของสิทธิ์ยังเป็นของเจ้าของเดิมอยู่ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้ ดังต่อไปนี้
- ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ รถยนต์อาจได้ทำการโอนลอยแล้ว ตัวรถไปอยู่ที่ผู้ซื้อแต่การโอนเป็นการโอนลอย หากผู้ซื้อนำรถไปขับขี่และเกิดอุบัติเหตุหรือขับขี่ผิดกฏจราจร เหตุความผิดทั้งหมดจะตกไปอยู่ในชื่อของผู้ขาย หรือเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม
- อาจเกิดความเสี่ยงในการถูกสวมสิทธิ์โดยบุคคลที่ 3 เพราะเอกสารการโอนยังไม่ได้ระบุชื่อผู้รับโอน จึงอาจเสี่ยงต่อผู้แอบอ้างนำชื่อไปสวมสิทธิ์
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเหล่านี้ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายควรถือเอกสารการโอนลอยต่างๆ ฝ่ายละชุด เพื่อป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ในภายหลัง
สรุป
การโอนลอยคือ การโอนกรรมสิทธิ์ โดยเซ็นสัญญาการโอน แต่ยังไม่กรอกชื่อผู้รับโอน แต่ในบางกรณีก็กรอกชื่อผู้รับโอนแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปทำการโอนให้เรียบร้อยที่กรมขนส่งทางบก ซึ่งการโอนลอยรถสามารถทำได้ทั้งรถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ และรถบรรทุก แต่การโอนลอยให้ปลอดภัยจะต้องตรวจเช็กเอกสารให้เรียบร้อย รวมทั้งเมื่อทำการซื้อมาแล้วให้เดินทางไปทำเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานขนส่งอีกครั้ง เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย