

“การเจิม” เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในงานมงคลไทยมาช้านาน โดยเฉพาะงานที่เป็นหมุดหมายของการเริ่มต้นสิ่งใหม่ เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานเปิดธุรกิจใหม่ หรือการออกรถ
สำหรับใครที่เพิ่งซื้อรถมาใหม่ และต้องการเจิมรถ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล และช่วยป้องกันภยันตรายในการขับขี่ คงจะมีข้อสงสัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไม่เจิมรถได้หรือไม่ รถมือสองต้องเจิมไหม การเจิมรถมีขั้นตอนอย่างไรและต้องใช้อะไรบ้าง ควรเจิมรถในวันและเวลาไหนดี และควรไปเจิมรถที่วัดไหนดี ในบทความนี้ ได้รวบรวมทุกคำตอบไว้แบบครบจบในที่เดียว ไปดูกัน!
ทำความรู้จักกับการเจิมรถ พิธีเพิ่มความขลัง และเสริมมงคลให้ผู้ขับขี่
การเจิมรถ ถือเป็นการทำพิธีเพื่อต้อนรับรถใหม่ และเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลในการใช้รถ รวมถึงเป็นการอัญเชิญให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น แม่ย่านางรถ มาปกปักรักษาตัวยานพาหนะและผู้เป็นเจ้าของ เพื่อให้สามารถขับขี่รถได้อย่างปลอดภัย แคล้วคล้าวจากอันตรายทั้งปวง และพบเจอแต่สิ่งดีๆ
โดยการเจิมรถที่เห็นในปัจจุบันมีที่มาจาก “พินทุกัปปะ” ซึ่งเป็นการทำสัญลักษณ์หรือการแต้มจุดตำหนิลงบนบริขารของพระภิกษุตามพระธรรมวินัย เช่น การทำแต้มมุมจีวรด้วยสีดำคล้ำ เป็นต้น เพื่อเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของ และแสดงว่าของสิ่งนั้นได้มาอย่างชอบธรรม
ตอบทุกคำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับการเจิมรถ
หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับที่มาและจุดประสงค์ของการเจิมรถกันไปแล้ว หลายๆ คนอาจมีข้อสงสัย หรืออยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเจิมรถ ในส่วนนี้ได้รวบรวมคำถามยอดฮิต พร้อมคำตอบเหล่านั้น จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกัน
• เจิมรถด้วยตัวเองได้ไหม?
สำหรับใครที่กำลังสังสัยว่า เจิมรถด้วยตัวเองได้ไหม? หรือ จำเป็นต้องนิมนต์พระหรือไม่? คำตอบคือ สามารถเจิมด้วยตนเองได้ ขอแค่คุณรู้สึกสบายใจหรือพอใจกับมันก็ เพราะการเจิมรถเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ หากคุณมีคนสำคัญในใจแล้ว ก็สามารถให้บุคคลเหล่านั้นมาเจิมให้ก็ได้เช่นกัน เช่น การให้ผู้ที่เปรียบเหมือนพระในบ้านอย่างพ่อหรือแม่ การให้ญาติที่คอยสนับสนุนค่ารถ หรือการให้เพื่อนที่ขับรถดีและไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ ก็สามารถเป็นคนเจิมรถให้คุณได้เช่นกัน
• ซื้อรถมาใหม่ไม่เจิมรถได้ไหม?
การเจิมรถเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมความสบายใจในการขับขี่ หากคุณขับรถอย่างมีสติ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่เมาแล้วขับ หรือไม่แซงทางโค้ง วินัยและพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สามารถคุ้มครองคุณจากอันตรายได้ไม่ต่างจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เลย ดังนั้น คุณไม่จำเป็นต้องเจิมรถที่ซื้อมาใหม่ก็ได้
• รถมือสองต้องเจิมรถไหม?
ในความเชื่อเรื่องการเจิมรถ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวว่า รถหนึ่งคันสามารถเจิมได้เพียงครั้งเดียว หรือ ข้อห้ามในการเจิมซ้ำรอยเดิม ดังนั้น เมื่อซื้อรถมือสอง ที่ยังมีร่องรอยแป้งดินสอพองจากการเจิมของเจ้าของรถคนก่อนเหลืออยู่ ในฐานะเจ้าของใหม่ คุณสามารถเจิมรถซ้ำครั้งที่ 2 เพื่อเพิ่มความขลัง และความสบายใจของคุณ หรือหากไม่ต้องการเจิมเพิ่มก็สามารถทำได้เช่นกัน
เจิมรถต้องเตรียมอะไรบ้าง
สำหรับใครที่ตัดสินใจได้แล้วว่า ต้องการเจิมรถใหม่ ไม่ว่าจะเป็น รถมือหนึ่งหรือมือสอง คงจะสงสัยว่า เจิมรถต้องใช้อะไรบ้าง? งั้นเตรียมปากกาไว้ให้พร้อม เพื่อลิสต์และไปซื้อของตามรายการต่อไปนี้ได้เลย
สิ่งที่จำเป็นต้องเตรียม เพื่อให้การเจิมรถผ่านไปอย่างราบรื่นและไม่สะดุด มีดังนี้
• พานใส่หรือจาน สำหรับใส่ของไหว้
• ถ้วยหรือขันขนาดเล็ก สำหรับใส่ดินสอพองที่ละลายแล้ว
• ของเป็นคู่ เช่น ธูป 5 คู่ และ เทียน 5 คู่
• พวงมาลัยดอกไม้ 1 พวง
• ของสำหรับเจิมรถ ได้แก่ น้ำอบ แป้งดินสอพอง และแผ่นทองคำเปลว
• ซองปัจจัยถวายพระ ในกรณีที่นิมนต์พระมาเจิมรถ
หากมีการนิมนต์พระมาเจิมรถ ทางวัดมักจะแจ้งรายการของที่เจ้าของรถจำเป็นต้องจัดเตรียมไว้เบื้องต้น
เจิมรถมีขั้นตอนอย่างไร
เมื่อรู้แล้วว่า การเจิมรถต้องใช้อะไรบ้าง หลายคนคงกำลังสงสัยว่า การเจิมรถมีขั้นตอนอย่างไร ในเนื้อหาส่วนนี้จะอธิบายขั้นตอนการเจิมรถแบบสรุป เพื่อที่เจ้าของจะได้ทำความเข้าใจ และเตรียมการให้พร้อม เพื่อต้อนรับรถคันใหม่ ไปดูกัน!
1. นิมนต์พระ: หากต้องการให้พระหรือหลวงพ่อที่นับถือมาเจิมรถให้ เพื่อเพิ่มความขลังและเสริมความสบายใจ การติดต่อกับทางวัดล่วงหน้าก่อนเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะการเจิมรถไม่ใช่กิจปกติของสงฆ์
2. หาฤกษ์มงคล: การเลือกช่วงวันและเวลาที่ดี จะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่เจ้าของรถได้ โดยหากมีนิมนต์พระมาเจิม ส่วนใหญ่หลวงพ่อมักจะคำนวณหาช่วงวันและเวลาที่เป็นมงคลให้ด้วย
3. เตรียมของให้พร้อม: การเตรียมของไหว้ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเจิมรถใส่ไว้ในพานให้เรียบร้อย จะช่วยให้พิธีเจิมผ่านไปได้ด้วยดี รวมถึง ยังป้องกันไม่ให้เวลาล่วงเลยจากช่วงที่เป็นมงคลอีกด้วย
4. ทำความสะอาดรถก่อนเจิม: ไม่ว่าจะเป็นรถที่ซื้อมามือหนึ่งหรือมือสอง ก่อนจะนำไปเจิมควรทำความสะอาดให้เรียบร้อยทุกซอกทุกมุม โดยเฉพาะจุดที่ต้องการจะเจิม เปรียบเหมือนการชำระล้างร่างกายให้พร้อมก่อนเข้าร่วมพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึง ยังช่วยให้รอยที่เจิมคงอยู่ได้นานอีกด้วย
5. เจิมรถ: ผสมแป้งดินสอพองกับน้ำอบในถ้วยเล็ก และคนให้รวมเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนจะใส่รวมในพานของไหว้ และเลือกเจิมในบริเวณที่ต้องการ เมื่อเจิมเสร็จให้แปะทองคำเปลวลงไป ในขั้นตอนนี้ หากนิมนต์พระมา สามารถฟังขั้นตอนจากลูกศิษย์วัด หรือถือพานของไหว้ตามหลวงพ่อได้เลย
6. ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บนรถ: หลังจากเจิมรถเสร็จแล้ว ให้แขวนพวงมาลัยที่เตรียมไว้กับกระจกมองหลัง และไหว้เชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ
7. พรมน้ำมนต์ทั่วรถ: หากคุณนิมนต์พระมาเป็นผู้เจิมรถ หลวงพ่อจะพรมน้ำมนต์ที่บริเวณที่เจิมหรือเดินพรมทั่วรถให้ แต่หากคุณไม่นิมนต์พระมา ก็สามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้
8. บีบแตรรถ 3 ครั้ง: ตามความเชื่อเป็นการทำเพื่อเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เวลาขับผ่านศาลเจ้าหรือศาลพระภูมิบางแห่ง
9. เจ้าของขึ้นไปนั่งบนรถ: หลังจากการบีบแตรรถแล้ว เจ้าของรถควรขึ้นไปนั่ง หรืออาจเชิญให้ผู้ที่เคารพขึ้นไปนั่งบนรถ และปิดประตู ก็ถือเป็นอันเสร็จพิธี
รูปแบบการเจิมรถที่ได้รับความนิยม
หลังจากที่รู้ว่าต้องเตรียมอะไร และการเจิมรถมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง หลายคนอาจจะสงสัยว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว นิยมเจิมรูปแบบไหน และแต่ละรูปแบบมีความหมาย หรือนิยมเจิมไว้ที่บริเวณใดของรถบ้าง ซึ่งจะเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มความสิริมงคลได้
• เจิมกระแจะ: การเจิม 3 จุด มีความหมายถึงพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ นิยมเจิมหรือแปะแผ่นทองคำ บริเวณเพดานหรือพวงมาลัยรถ รวมถึง มีการอัญเชิญเทวดามาประทับ เพื่อคุ้มครองรถและเจ้าของ
• ยันต์พระเจ้าอมโลก: การอาราธนาบารมีของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ในกัปป์นี้ (นะโมพุทธายะ) โดยนิยมเจิมที่ฝากระโปรงหรือเพดานรถ เพื่อเป็นการเสริมสร้างพลังให้แก่รถและเจ้าของ
• ยันต์อุนาโลม: เป็นปฐมยันต์ที่สูงสุด และเป็นสัญลักษณ์แทนมหาปุริสลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะของบุรุษ 32 ประการของพระพุทธเจ้า ที่เป็นผู้มีบุญญาธิการและมีเทวดาคุ้มครอง นิยมเจิมบริเวณมุมซ้าย-ขวาตรงเสา A ของรถ เพื่อเปรียบกับการมีเทวดามาคอยปกปักรักษา
• ยันต์นะ: เป็นยันต์ที่ขึ้นชื่อเรื่องเมตตามหานิยม และปัดเป่าสิ่งไม่ดี นิยมเจิมด้านท้ายรถ เพื่อคุ้มครองและให้รอดพ้นจากอันตรายที่มองไม่เห็น
• ยันต์ตรีนิสิงเห: เป็นยันต์พุทธคุณสูงสุด และยันต์ครูใหญ่แห่งยันต์ทั้งปวง ประกอบไปด้วยกลบทตัวเลข 1-9 ช่วยเสริมด้านเมตตามหานิยม และปกป้องไม่ให้ชีวิตตกต่ำ นิยมเจิมบริเวณภายในรถหรือเหนือหัวผู้ขับขี่
เจิมรถวันไหนดี เผยฤกษ์งามยามดีที่เจ้าของรถต้องรู้
สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่า ควรเจิมรถวันและเวลาไหนดี? คำตอบคือ ควรเลือกเจิมรถในช่วงเวลากลางวัน โดยเฉพาะช่วงเช้า เพราะโบราณมีความเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำมาค้าขึ้น รวมถึง ยังเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการดำเนินงานมงคลต่างๆ อีกด้วย โดยวันและเวลาที่เหมาะกับการเจิมรถมีวิธีการเลือกหลายอย่าง ดังนี้
เลือกตามฤกษ์สะดวก
ฤกษ์สะดวก หมายถึง วันที่เจ้าของรถมีความพร้อมในด้านต่างๆ มีความสงบในจิตใจ และไม่มีเรื่องติดค้าง ซึ่งถือเป็นวันและเวลาในการเจิมรถที่ดี เพราะคุณไม่ต้องรีบเร่ง หรือมีเรื่องด่วนอื่นๆ มาทำให้รู้สึกพะว้าพะวัง ทั้งนี้ ควรเจิมรถในช่วงเวลากลางวัน โดยอาจเลือกเป็นช่วงเช้าวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันที่สะดวกอื่นๆ ก็ได้
เลือกตามฤกษ์มงคลของไทย
“ฤกษ์บน” ถือเป็นช่วงวันและเวลามงคลที่ดวงดาวเรียงตัวอยู่ในตำแหน่งที่ดีในทางโหราศาสตร์ ซึ่งหากทำกิจกรรมใดที่สอดคล้องกับฤกษ์ที่เลือกมา จะยิ่งเสริมให้สิ่งนั้นประสบผลสำเร็จได้ มีทั้งสิ้น 9 ฤกษ์
ทั้งนี้ ในการเลือกช่วงเวลาเพื่อเจิมรถสามารถใช้หลักการเดียวกับการเลือกฤกษ์ออกรถใหม่ได้ โดยฤกษ์มงคลที่เหมาะกับการเจิมรถเป็นพิเศษ มีดังนี้
• มหัทธโนฤกษ์: เป็นฤกษ์ที่นิยมใช้ในการออกรถ หรือเอารถออกจากอู่ จึงสามารถใช้กับการเจิมรถได้เช่นกัน เพราะเป็นฤกษ์ที่เหมาะกับใช้ทำสิ่งที่ต้องการความมั่นคง และให้สิ่งนั้นคงอยู่นาน เช่น ขึ้นบ้านใหม่ ปลูกอาคาร หรือแต่งงาน เป็นต้น
• ภูมิปาโลฤกษ์: เป็นฤกษ์ที่ใช้กับสิ่งที่ต้องการความมั่นคงถาวร หรือกิจกรรมที่หวังผลระยะยาว และไม่ฉาบฉวย ดังนั้น จึงเหมาะกับการเจิมรถเป็นอย่างมาก
• สมโณฤกษ์: เป็นฤกษ์ที่นิยมใช้กับการทำพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การทำขวัญนาค การอุปสมบท หล่อพระ รวมถึง การกระทำเพื่อความสงบร่มเย็นเป็นสุข เช่น ทำบุญต่อชะตาอายุ หรือขึ้นบ้านใหม่ จึงถือเป็นอีกฤกษ์ที่เหมาะกับการเจิมรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องการให้พระครูที่นับถือเป็นผู้เจิมให้
เลือกตามวันที่ถูกโฉลกตามวันเกิด
สำหรับใครที่อยากเลือกวันเจิมรถที่ถูกโฉลกกับวันเกิดตามโหราศาสตร์ไทยของตนเอง เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล สามารถเลือกเจิมรถในวันหรือหลีกเลี่ยงวันต่อไปนี้ได้
• คนเกิดวันอาทิตย์: ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 06.00 น. ของวันอาทิตย์ และ 05.59 น. ของวันจันทร์ ควรเจิมรถวันจันทร์ โดยควรหลีกเลี่ยงวันอังคารและวันศุกร์
• คนเกิดวันจันทร์: ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 06.00 น. ของวันจันทร์ และ 05.59 น. ของวันอังคาร ควรเจิมรถวันจันทร์และวันศุกร์ โดยควรหลีกเลี่ยงวันอาทิตย์และวันพฤหัสบดี
• คนเกิดวันอังคาร: ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 06.00 น. ของวันอังคาร และ 05.59 น. ของวันพุธ ควรเจิมรถวันศุกร์ โดยควรหลีกเลี่ยงวันอาทิตย์และวันจันทร์
• คนเกิดวันพุธกลางวัน: ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 06.00 - 17.59 น. ของวันพุธ ควรเจิมรถวันจันทร์และวันศุกร์ โดยควรหลีกเลี่ยงวันอังคารและวันพุธ
• คนเกิดวันพุธกลางคืน: ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันพุธ และ 05.59 น. ของวันพฤหัสบดี ควรเจิมรถวันจันทร์และวันศุกร์ โดยควรหลีกเลี่ยงวันพุธและวันพฤหัสบดี
• คนเกิดวันพฤหัสบดี: ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 06.00 น. ของวันพฤหัสบดี และ 05.59 น. ของวันศุกร์ ควรเจิมรถวันจันทร์และวันศุกร์ โดยควรหลีกเลี่ยงวันเสาร์
• คนเกิดวันศุกร์: ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 06.00 น. ของวันศุกร์ และ 05.59 น. ของวันเสาร์ ควรเจิมรถวันจันทร์และวันศุกร์ โดยควรหลีกเลี่ยงวันพุธและวันเสาร์
• คนเกิดวันเสาร์: ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 06.00 น. ของวันเสาร์ และ 05.59 น. ของวันอาทิตย์ ควรเจิมรถวันจันทร์ โดยควรหลีกเลี่ยงวันพุธและวันศุกร์
รวมสถานที่เจิมรถเด็ดๆ ที่ท่านเจ้าของรถไม่ควรพลาด
หากคุณตัดสินใจได้แล้วว่า ต้องการขับรถไปเจิมที่วัด เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคล สามารถเลือกวัดที่อยู่ใกล้บ้านได้เลย โดยควรติดต่อเพื่อนัดเวลาล่วงหน้า และเตรียมของที่จำเป็นสำหรับการเจิม แต่หากยังไม่มีวัดในใจ และกำลังคิดว่า เจิมรถที่วัดไหนดี? ในส่วนนี้ได้รวบรวมรายชื่อวัดที่น่าสนใจมาให้ ดังนี้
• วัดยานนาวา (กรุงเทพฯ): จุดเด่นของวัดยานนาวา คือ สำเภาเจดีย์ ซึ่งเชื่อกันว่าเรือสำเภาสามารถช่วยเสริมดวงในด้านโชคลาภ และการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการค้าขายได้ สำหรับใครที่อยากให้กิจการรุ่งเรือง วัดยานนาวาถือเป็นตัวเลือกที่ดีในการเจิมรถ
• วัดท่าไม้ (จ. สมุทรสาคร): หลายคนอาจจะคุ้นหูกับชื่อวัดท่าไม้ เพราะเคยเห็นจากสติ๊กเกอร์ติดท้ายรถ หรือเคยได้ยินความโด่งดังในเรื่องของวัตถุมงคล เช่น พระเครื่อง และเครื่องราง เป็นต้น นอกจากนี้ วัดท่าไม้ยังเป็นสถานที่ยอดนิยมในการเจิมรถ ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยเสริมดวงชะตาในด้านต่างๆ และช่วยให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า รวมถึง ช่วยปัดเป่าจากภยันตรายต่างๆ อีกด้วย
• วัดสว่างอารมณ์ (จ. นครปฐม): เชื่อกันว่าหากให้เจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์เป็นผู้เจิมรถจะช่วยเสริมให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง และช่วยเรื่องความแคล้วคลาดปลอดภัย เพราะเจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์ หรือ พระครูยติธรรมานุยุต (หลวงพ่อแป๊ะ ธัมมทินโน) เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ โดยหากต้องการให้พระครูเป็นผู้เจิมให้ ควรมาถึงวัดก่อนเวลา 8 โมงเช้า และเตรียมของสำหรับพิธีเจิมรถมาเอง ได้แก่ พวงมาลัย 3 พวง, ผ้า 3 สี และทองคำเปลวแท้ 9 แผ่น รวมถึง ควรติดต่อสอบถามล่วงหน้า
• วัดดับภัย (จ. เชียงใหม่): เป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีพระเจ้าดับภัย ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือมาแต่โบราณประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ ยังมีวัตถุมงคลอย่างเหรียญดับภัย ที่เชื่อกันว่าสามารถช่วยปกป้องให้แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวงได้ วัดแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่เจิมรถยอดนิยมในภาคเหนือ
• วัดช้างให้ (จ. ปัตตานี): เป็นวัดทางภาคใต้ที่มีประวัติเก่าแก่มากว่า 500 ปี รวมถึง เป็นวัดที่เคยมีเจ้าอาวาสเป็นหลวงปู่ทวด ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ทรงอภิญญาในประเทศไทย โดยเชื่อกันว่าหากต้องการเสริมสิริมงคล โดยเฉพาะด้านความเมตตามหานิยม การเจิมรถที่วัดช้างให้ถือเป็นตัวเลือกที่ดี
หลายคนคงจะได้คำตอบไปแล้วว่า เจิมรถต้องใช้อะไรบ้าง ต้องเลือกวันและเวลาไหนดี หรือควรไปเจิมรถที่วัดไหน แม้การเจิมรถจะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคล ป้องกันภยันตรายจากสิ่งที่มองไม่เห็น และสร้างความสบายใจให้แก่เจ้าของรถแล้ว แต่การขับรถอย่างมีสติ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้คุณขับขี่ได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้นเช่นกัน