ช่วงหลังๆ เราจะเห็นได้ว่าตลาดรถยนต์มือสอง ที่ลงโฆษณาประกาศขายรถกันอย่างมากมายนั้น ทำไมรถยนต์ยี่ห้อหรูๆ หรือรถซูเปอร์คาร์ถึงมีราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น เรียกว่าปลุกตลาดรถยนต์มือสองให้คึกคักกว่าเดิมมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะตลาดรถจดประกอบที่หลายๆ คนอาจจะงงๆ ว่าคือรถอะไร เป็นแบบไหนกันแน่ น่าซื้อหรือไม่ เพราะเห็นว่ามีการจับรถจดประกอบ ผิดกฎหมายอยู่บ่อยๆ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน ถึงรายละเอียดด้านต่างๆ ว่ารถจดประกอบคืออะไร ความ (ไม่) ลับของรถหรูมือสอง มาดูวิธีสังเกตกัน
รถจดประกอบ คืออะไร?
หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ รถจดประกอบ คือ รถมือสองจากต่างประเทศนั่นเอง จะมีความแตกต่างตรงที่นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนแบบไม่ตัดตัวถัง แต่ไม่ได้นำเข้ามาทั้งคัน ด้วยการแยกโครงรถ ตัวถังรถ และอุปกรณ์อื่นๆ เช่น เครื่องยนต์ ล้อรถ ฝากระโปรง เบาะ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำเข้าจะแยกมาในรูปแบบไหน เพื่อจะได้เสียภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำลง เพราะการนำเข้าแบบแยกชิ้นส่วนจะเสียภาษีเพียงแค่ 30% จากราคาประเมินเท่านั้น เพราะหากเสียภาษีนำเข้าแบบรถทั้งคัน จะมีราคาแพงถึง 200-300% เลยทีเดียว
โดยรถจดประกอบที่นำเข้ามานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นรถซูเปอร์คาร์ (Supercar) หรือรถยี่ห้อหรูๆ ที่มีราคาแพง การนำเข้าเป็นชิ้นส่วนจะมีเอกสารการเสียภาษีแสดงชัดเจน สามารถนำมาจดทะเบียนรถจดประกอบได้
รถจดประกอบผิดกฎหมายหรือไม่?
คำว่ารถจดประกอบ จริงๆ หมายถึงรถที่จดทะเบียนจากชิ้นส่วนประกอบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยการเสียภาษี มีเอกสารศุลกากรอย่างถูกต้อง เมื่อนำเข้ามาแล้ว ต้องประกอบกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต หลังประกอบเสร็จแล้วก็นำรถเข้าไปเสียภาษีสรรพสามิต และต้องไปจดเล่มทะเบียนให้ถูกต้อง รถจดประกอบต้องเสียภาษีให้ครบทุกครั้งเหมือนรถปกติ เพื่อป้องกันรถถูกยึด หรือผิดกฎหมายจนต้องถูกฟ้อง
5 ขั้นตอนการจดทะเบียนรถประกอบให้ถูกกฎหมาย
การนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ ด้วยการแยกชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อนำมาประกอบเป็นรถประกอบในประเทศไทยนั้น เมื่อนำเข้ามาตามขั้นตอนที่ถูกต้องแล้ว ก็ต้องนำไปจดทะเบียนรถประกอบให้ถูกกฎหมาย โดยมีด้วยกัน 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. ต้องมีใบกำกับสินค้า
ชิ้นส่วนต่างๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ตัวถัง เครื่องยนต์ ล้อรถยนต์ รวมทั้งชิ้นส่วนอื่นๆ ต้องมีใบเอกสารอินวอยซ์ (Invoice) ใบกำกับสินค้า สำหรับแสดงการเสียภาษีศุลกากร ถึงจะนำไปจดประกอบเป็นรถที่สมบูรณ์ได้
2. ได้รับการรับรองว่ามั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย
หลังจากผ่านขั้นตอนแรกแล้ว การประกอบชิ้นส่วนรถ และอะไหล่ต่างๆ ให้สมบูรณ์เป็นรถออกมา ต้องนำชิ้นส่วนทั้งหมดไปประกอบที่โรงงาน ที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิตเท่านั้น เพื่อจะได้รับการรับรองความแข็งแรง มั่นคง และปลอดภัย เพื่อความพร้อมในการประเมินภาษีจากสรรพสามิต
3. ชำระภาษีสรรพสามิต
หลังจากประกอบเสร็จจากโรงงานแล้ว ก็ถึงขั้นตอนนำรถจดประกอบไปเสียภาษีสรรพสามิต โดยกรมสรรพสามิตนั้นจะประเมินภาษีจากรุ่นรถ และขนาดของเครื่องยนต์ว่าจะต้องเสียเท่าไหร่ โดยข้อมูลเบื้องต้น คือ รถที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 2800CC เสียภาษี 30% จากราคาประเมิน ส่วนรถที่มีขนาดเครื่องยนต์เกินกว่า 2800CC ต้องเสีย 50% จากราคาประเมิน
4. ตรวจสอบสารมลพิษ
หลังผ่านขั้นตอนชำระภาษีสรรพสามิตแล้ว ต้องนำรถยนต์เข้าตรวจสอบสารมลพิษจากเครื่องยนต์ ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อออกใบรับรองว่ารถยนต์คันนั้นๆ มีมาตรฐานความปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดสารมลพิษ
5. ขอจดทะเบียนรถ
ขั้นตอนสุดท้ายในการที่รถจดประกอบ จะเป็นรถที่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์แบบ ก็คือการนำรถไปขอจดทะเบียนรถยนต์ตามขั้นตอนปกติ กับกรมการขนส่งทางบก
รถจดประกอบดูยังไง?
การตรวจดูรถจดประกอบมีขั้นตอนและวิธีการดูที่สำคัญดังนี้
ตรวจสอบเล่มทะเบียนรถ
ขั้นแรก คือ การตรวจสอบเล่มทะเบียนรถ ส่วนที่สำคัญเลยก็คือให้ตรวจดูที่หน้า 18 ของสมุดจดทะเบียนรถยนต์ เพราะจะเป็นหน้าที่บอกประวัติของรถยนต์ทั้งหมด เช่น เคยติดแก๊ส เคยเปลี่ยนสี เคยเปลี่ยนเครื่องยนต์ ขอออกเล่มทะเบียนใหม่ เคยจดทะเบียนครอบครองมากี่คน หากเป็นรถจดประกอบจะเขียนว่าประกอบจากชิ้นส่วนอะไหล่รถ
ตรวจสอบปีที่ผลิตรถ
นอกจากเล่มทะเบียนรถแล้ว เรายังสามารถตรวจสอบปีที่ผลิตรถยนต์คันนั้นๆ ได้จากหลายส่วนด้วยกัน โดยสามารถตรวจเช็กจากจุดต่างๆ ได้ดังนี้
สายเข็มขัดนิรภัย
สายเข็มขัดนิรภัยเป็นส่วนที่สามารถบอกปีที่ผลิตรถได้แม่นยำ และชัดเจนที่สุด เพราะปีการผลิตเข็มขัดนิรภัยจะมีการผลิตใกล้เคียงกับปีที่ผลิตตัวรถ ก่อนจะนำมาประกอบเข้ากับตัวรถ
กระจกรถยนต์
ปีที่ผลิตกระจกรถยนต์ ก็สามารถบอกปีที่ผลิตรถยนต์ในเบื้องต้นได้เช่นเดียวกัน เพราะการผลิตรถยนต์แต่ละคัน ผู้ผลิตรถยนต์จะตีตัวเลข ระบุล็อต และปีผลิตไว้ที่มุมกระจก
เลขตัวถัง
สุดท้ายคือการดูปีที่ผลิตรถยนต์ จากเลขตัวถังรถ หรือ Vehicle Identification Number (VIN) ที่เปรียบเหมือนเลขบัตรประจำตัวรถยนต์คันนั้นๆ เลขตัวถังรถแต่ละคันจะระบุตัวเลขแตกต่างกันออกไป ประกอบด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลขทั้งหมด 17 หลักด้วยกัน แต่ละหลักจะระบุความหมายแตกต่างกัน เช่น ตัวเลขหรือตัวอักษรหลักที่ 1 จะบอกภูมิภาคที่ผลิตรถ หรือหลักที่ 4-8 จะบอกรายละเอียดตัวรถรุ่นนั้น รูปแบบตัวถัง ระบบเกียร์ รุ่นย่อย ฯลฯ ส่วนการดูปีที่ผลิตรถ มีหลักที่สำคัญ ดังนี้
- ตัวเลขหลักที่ 10 จะบอกปีที่ตัวถังรถยนต์ถูกผลิตขึ้นมา โดยจะเริ่มนับจากปี 1980 ซึ่งจะแทนที่โดยตัวอักษร A เป็นตัวแรก ไปจนครบ 25 ตัว ไปจบถึงปี 2000 ที่แทนด้วยตัวอักษร Y
- พอถึงปี 2001 จะเปลี่ยนไปใช้สัญลักษณ์เลข 1 แทนตัวอักษร ไล่ไปจนถึงตัวเลข 9 ซึ่งแทนปี 2009
- จากนั้นกลับมาใช้อักษร A แทนปี 2010 อีกครั้ง นับไล่เรียงมาเรื่อยๆ จนถึงปีปัจจุบัน
รถจดประกอบสามารถโอนขนส่งได้ไหม
รถจดประกอบที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอนแล้ว สามารถโอนขนส่งได้เหมือนรถปกติทั่วไป แต่ผู้ซื้อควรตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจนมากที่สุดเสียก่อน เพราะบางครั้งผู้ขายหรือนายหน้าอาจจะมีการบิดเบือน ปลอมแปลงเอกสาร เช่น นำรถไปติดแก๊สก่อนแล้วค่อยจดทะเบียน เพราะจะทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายบางส่วน หรือบางคนแจ้งว่าเล่มทะเบียนหาย ไปขอเล่มทะเบียนใหม่ เพื่อไม่ต้องแสดงหลักฐานบางอย่าง
ยิ่งการซื้อรถจดประกอบมาใช้ ยิ่งต้องใช้ความรอบคอบและตรวจสอบอย่างระมัดระวังในทุกขั้นตอน เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง จนถูกปรับ ถูกยึดรถ โดนภาษีย้อนหลัง หรือถูกฟ้องเอาได้
ข้อควรระวังก่อนจะซื้อรถจดประกอบ
ปัจจุบันรถจดประกอบ ได้รับความสนใจจากคนจำนวนไม่น้อย เพราะได้รถหรู รถหายาก ที่ราคาถูกกว่าการซื้อรถจากโชว์รูมทั่วไปมาก ผู้ซื้อควรเช็กต้นทางที่มาที่ไปให้ชัดเจนก่อน จะได้ไม่กลายเป็นเหยื่อ หรือผู้ทำผิดกฎหมายเสียเอง มาดูกันดีกว่าว่า ข้อควรระวังก่อนจะซื้อรถจดประกอบมีอะไรบ้าง
มีโอกาสเสี่ยงจะถูกหลอกได้ง่าย
การซื้อรถจดประกอบนั้นมีโอกาสจะโดนหลอกได้ง่าย เช่น หลอกว่าเล่มทะเบียนรถหาย เลยจดทะเบียนเล่มใหม่ แต่กลายเป็นว่าทะเบียนรถถูกล้าง ทำให้ไม่รู้ที่มาที่ไป ประวัติรถ หรือข้อมูลต่างๆ เช่น ชื่อเจ้าของเดิม ประวัติการติดตั้งแก๊ส เปลี่ยนเครื่องยนต์ หรือบางกรณีอาจเป็นรถสวมทะเบียน
อาจโดนภาษีย้อนหลัง
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การซื้อรถจดประกอบนั้นมีความเสี่ยงที่จะโดนภาษีย้อนหลังได้ ถ้าไม่ตรวจสอบให้ชัดเจน โดยรถจดประกอบจะต้องเสียภาษี 30% จากราคาประเมิน เช่น รถราคา 20 ล้านบาท ต้องเสียภาษีทั้งหมด 6 ล้านบาท แต่ผู้ขายที่ต้องการเลี่ยงภาษี จะนำรถไปให้สรรพสามิตต่างจังหวัดจับ แล้วให้สรรพสามิตต่างจังหวัดตีราคาว่ารถคันนั้นๆ ต้องจ่ายภาษี 200,000 บาท ซึ่งจะต้องจ่ายค่าปรับเป็น 3 เท่า นั่นคือ 600,000 บาท
หลังจากจ่ายค่าปรับ 600,000 บาทแล้ว ผู้ขายก็นำใบค่าปรับไปยื่นกรมขนส่ง เพื่อขอจดเป็นรถจดประกอบได้อย่างถูกต้อง แต่สุดท้ายหากเราซึ่งเป็นผู้ซื้อรถจดประกอบคันนั้น ถูกตรวจพบภายหลัง ก็อาจจะโดนค่าปรับ หรือภาษีย้อนหลังหนักกว่าเดิม โดยต้องจ่ายเป็นจำนวน 3 เท่าของราคาภาษีประเมินจริง หากราคาที่ประเมินตอนแรกคือ 6 ล้านบาท เท่ากับว่าต้องโดนภาษีย้อนหลัง 3 เท่า คือ 18 ล้านบาทเลยทีเดียว
ประกันรถยนต์ไม่รองรับ
ใครคิดจะซื้อรถจดประกอบ ที่เป็นรถหรู รถราคาแพง หรือรถหายาก ต้องมองความเสี่ยงข้อนี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน เพราะบริษัทประกันรถยนต์ส่วนใหญ่ มักจะไม่ค่อยรับทำประกันให้กับรถจดประกอบ โดยอาจจะดูว่าเป็นรถรุ่นไหนด้วย เหตุผลหลักๆ ก็มาจากเวลาต้องซ่อม มักเกิดปัญหาอะไหล่หายาก หาไม่ได้ หรือมีราคาแพงมาก รวมทั้งอาจมีปัญหาอื่นๆ ตามมาหลังซ่อมได้เช่นกัน
สรุป
รถจดประกอบ คือรถยนต์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยแยกนำเข้ามาเป็นชิ้นส่วน แล้วนำมาประกอบขึ้นเป็นคันในประเทศไทย ทำให้รถยนต์มีราคาถูกกว่ารถปกติทั่วไป สำหรับใครที่สนใจต้องการจะซื้อรถจดประกอบจริงๆ ขอแนะนำให้ศึกษาข้อมูล และตรวจเช็กรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน ที่สำคัญควรเลือกผู้ขาย หรือผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ เพื่อความสบายใจ และเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมาในอนาคตเช่นกัน