

ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะคงที่ การจะหาเงินมาได้แต่ละบาทนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย รายจ่ายมากมาย มีงวดที่ต้องผ่อนจ่ายเยอะ เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ อาจจะทำให้หมุนเงินได้ไม่ทัน เป็นสาเหตุให้สภาพคล่องทางการเงินของใครหลายคนติดขัด การขายรถจึงเป็นอีกหนึ่งทางออกเพื่อนำเงินมาหมุนให้พอใช้ได้ชั่วคราว
แต่ถ้ารถยังผ่อนไม่หมดล่ะ? จะขายได้ไหม หรือต้องทำยังไง เตรียมตัวอะไรบ้าง ใครที่ความรู้ตรงนี้ไม่ไม่แน่น ไม่ค่อยมั่นใจ คาร์ฮีโร่ขออาสาอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับการขายรถที่ยังผ่อนไม่หมด หรือรถที่ยังติดไฟแนนซ์ ข้อควรที่ต้องระวัง และเรื่องที่ควรรู้อื่นๆ เพิ่มเติมให้ผู้ที่ใช้รถทุกท่านแบบจัดเต็มเอง!
รถยังไม่ผ่อนไม่หมด หรือรถติดไฟแนนซ์ คืออะไร?
ก่อนจะหาวิธีขายรถที่ยังผ่อนไม่หมด มาทำความรู้จักกับการผ่อนรถก่อนดีกว่า เราอาจจะคุ้นหูกับคำว่า “รถติดไฟแนนซ์” แต่เคยสงสัยมั้ยว่า มันคืออะไร?
รถที่ติดไฟแนนซ์ มาจากการซื้อรถผ่านบริษัทที่รับจัดไฟแนนซ์รถยนต์ให้กับเรา ซึ่งการจัดไฟแนนซ์รถยนต์ คือ การที่เราซื้อรถกับบริษัทที่ขายรถยนต์โดยตรง หรือซื้อผ่านบริษัทที่รับจัดไฟแนนซ์รถยนต์ โดยที่เราจะได้รถมาใช้เลยหลังตกลงเสร็จสิ้น และชำระเงินด้วยวิธีการทยอยจ่ายเป็นรายเดือนไป ตามแต่ตกลงว่าจะผ่อนชำระเดือนละกี่บาท เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่
ในกรณีนี้ ขณะที่เรายังผ่อนชำระรถยนต์ที่ติดไฟแนนซ์อยู่นั้น ชื่อของเจ้าของรถจะเป็นของบริษัทรถยนต์ หรือบริษัทรับจัดไฟแนนซ์นั้นๆ จนกว่าเราจะผ่อนชำระเงินต้นรวมถึงดอกเบี้ยครบถ้วน กรรมสิทธิ์เจ้าของรถก็จะได้รับโอนมาเป็นชื่อของเรา
ในบางสถานการณ์ เมื่อเราผ่อนชำระงวดรถครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องการหนทางช่วยให้มีสภาพคล่องทางการเงินสำหรับการลงทุน อุปโภค หรือบริโภคเพิ่มเติม ก็สามารถนำรถยนต์ของเรากลับไป “รีไฟแนนซ์” เพื่อให้ได้เงินก้อนมา และผ่อนชำระกลับไปเป็นรายเดือนตามระยะเวลา อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขของบริษัทรถยนต์หรือสถาบันการเงินอื่นๆ กำหนดไว้ได้เช่นกัน
รถยังผ่อนไม่หมดสามารถขายได้ไหม?
สำหรับการขายรถนั้นเป็นเรื่องปกติที่สามารถขายได้ทั่วไป ส่วนกรณีที่ไม่มั่นใจว่า รถติดไฟแนนซ์ รถที่ยังผ่อนไม่หมด ขายได้ไหม? ให้ลองมองว่า การที่รถยังอยู่ในช่วงผ่อนชำระ หรือเรียกว่า ติดไฟแนนซ์ หมายความว่า เรายังไม่ใช่รถของเจ้าของเองร้อยเปอร์เซ็น จึง “ไม่มีสิทธิ์” นำไปขายต่อได้ เพราะขณะที่ผ่อนชำระนั้น ชื่อของเราจะอยู่ในสถานะผู้เช่าซื้อเท่านั้น กรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของรถยังเป็นชื่อของสถาบันที่เราไปจัดไฟแนนซ์อยู่นั่นเอง
หากนำรถที่ยังติดไฟแนนซ์ไปขายต่อ “โดยพลการ” ซึ่งก็คือไม่ได้รับอนุญาติจากเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้น นับว่าเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 352 มีใจความว่า
“ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
สรุปง่ายๆ ในกรณีของการขายรถติดไฟแนนซ์โดยพลการนั้น ตามประมวลกฎหมายนี้ถือว่าผิด เพราะยังถือว่าเราเป็นเพียงผู้เช่าซื้อ นำรถที่ยังเป็นของคนอื่นมาเป็นของเรา หรือลักลอกขายต่อให้กับคนอื่น ส่งผลให้มีโทษทางกฎหมายได้ทั้งในทางแพ่งและอาญานั่นเอง
แต่คนที่ลังเลว่าจะนำรถที่ยังผ่อนไม่หมดไปขายได้ไหมนั้น อย่าเพิ่งเศร้าใจไป เพราะการกระทำที่ทำให้ผิดกฎหมาย คือ การนำรถที่ชื่อเราไม่ใช่เจ้าของไปขายโดยพลการ สำหรับคนที่ต้องการวิธีขายรถที่ยังผ่อนไม่หมดที่ถูกต้องนั้น หัวข้อต่อๆ ไปมีคำตอบรออยู่ ไปดูกันเลย
อยากขายรถที่ยังผ่อนไม่หมดให้ถูกวิธี ต้องทำยังไง?
สำหรับคนที่ซื้อรถด้วยวิธีผ่อนชำระมาแล้ว แต่รู้สึกว่าตัวเองผ่อนไม่ไหว เกิดคำถามว่ารถยังผ่อนไม่หมดขายได้ไหม หรือมีเหตุผลอื่นๆ ที่อยากขายรถทั้งๆ ที่ยังผ่อนไม่หมด วิธีที่ทำได้ คือ การเจรจาขอผ่อนปรนสัญญาเช่าซื้อกับทางบริษัทหรือสถาบันทางการเงินที่เราไปจัดไฟแนนซ์ด้วย โดยควรปรึกษาและทำการเปลี่ยนสัญญากับเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ถูกต้อง ซึ่งมีรายละเอียดของวิธีขายรถที่ยังผ่อนไม่หมด ดังนี้
-
ปิดไฟแนนซ์ก่อนขายรถ
การปิดไฟแนนซ์ก่อนขายรถ คือ การชำระงวดทั้งหมดที่ค้างชำระ หรือที่เรียกว่า นำเงินก้อนไปปิดไฟแนนซ์ก่อนเพื่อให้กรรมสิทธิ์เป็นของเรา จากนั้นค่อยขายออก อีกทั้งยังได้ส่วนลดของดอกเบี้ยในส่วนที่เหลืออยู่ด้วย
วิธีขายรถที่ยังผ่อนไม่หมดในลักษณะนี้ เหมาะกับคนที่มีเงินเก็บ หรือสะดวกชำระเป็นก้อน และไม่สะดวกกับขั้นตอนเอกสารอย่างการจัดการสัญญาต่างๆ เพราะวิธีนี้จะช่วยโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถจากไฟแนนซ์มาเป็นชื่อของเราเพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้สะดวก ส่วนข้อเสียของวิธีนี้ แน่นอนว่าคือการที่ต้องมีเงินก้อนมาโปะทับ อาจจะไม่เหมาะนักสำหรับคนที่ไม่ได้มีเงินเก็บเป็นก้อน
-
ขายดาวน์ให้กับผู้อื่น
ในเมื่อเราไม่สามารถหาเงินก้อนใหญ่มาปิดไฟแนนซ์ได้ อีกวิธีขายรถที่ยังผ่อนไม่หมดก็คือการหาคนมาซื้อรถที่ติดไฟแนนซ์ต่อจากเราอีกต่อหนึ่ง โดยผู้ซื้อต้องมีเงินเป็นก้อนมาปิดบัญชีไฟแนนซ์ รวมออกค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือแทนเราทั้งหมด แล้วกรรมสิทธิ์ก็จะตกเป็นของผู้ซื้อต่อจากเราทันที
วิธีนี้อาจมีข้อเสียที่ต้องหาผู้ซื้อที่ยอมรับเงื่อนไขในการขายดาวน์ รวมถึงจะต้องมีเงินก้อนเพื่อมาปิดบัญชีไฟแนนซ์แทนเรา แต่ถ้าหากมีผู้รับซื้อต่อจากเราที่รับเงื่อนไขได้นั้น ก็นับได้ว่าเป็นวิธีส่งต่อที่รวบรัดและจบในตอนทีเดียว
-
ขายดาวน์แบบเปลี่ยนผู้ถือสัญญา
วิธีขายรถที่ยังผ่อนไม่หมดวิธีนี้มีความคล้ายกับวิธีขายดาวน์ให้กับผู้อื่น ความยากในการหาผู้ซื้อจะน้อยกว่า เพราะผู้ที่ซื้อต่อเราไม่จำเป็นต้องมีเงินก้อนเพื่อปิดยอดส่วนที่เหลือทั้งหมด ผู้ที่ซื้อเพียงแค่ต้องมีกำลังพอที่จะสามารถผ่อนต่อและยอมรับเงื่อนไขจากผู้ขายได้ก็เพียงพอแล้ว
ผู้ซื้อและผู้ขายจะตกลงรายละเอียดสัญญา และความสามารถในการผ่อนจ่ายของผู้ที่ซื้อต่อร่วมกับบริษัทรถยนต์ หรือสถาบันการเงินที่จัดการไฟแนนซ์รถยนต์ที่เรากำลังดาวน์ เพื่อให้ทางบริษัทนั้นพิจารณาว่าคนที่จะซื้อดาวน์ต่อนั้น มีความสามารถในการผ่อนจ่ายจริงหรือไม่
-
ขายกับเต็นท์รถมือสอง
การขายรถที่ยังผ่อนไม่หมดกับเต็นท์รถมือสอง หรือศูนย์บริการ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการขายด่วน หรือกรณีที่หาคนมาซื้อรถต่อไม่ได้ นับว่าเป็นทางเลือกที่รวดเร็วเมื่อเทียบกับวิธีอื่น เพราะทางเต็นท์รถมือสองจะดำเนินการต่อกับบริษัทไฟแนนซ์เพื่อปิดไฟแนนซ์ที่ค้างจากเราต่อไป
แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือ อาจเสี่ยงกับเต็นท์รถยนต์มือสอง หรือศูนย์บริการบางแห่งที่กดราคาให้ต่ำกว่าราคากลางตามท้องตลาดทั่วไป หรือในกรณีที่ไม่อยากให้เกิดที่สุดคือ ที่ที่รับต่อนั้นอาจกลายเป็นการรับฝากขายแทน ไม่ได้รับช่วงปิดไฟแนนซ์ให้อย่างที่หวัง
เอกสารที่ต้องใช้ในการขายรถที่ยังผ่อนไม่หมด
อ่านมาถึงตรงนี้ น่าจะได้คำตอบกันไปแล้ว สำหรับคำถามที่ว่า รถยังผ่อนไม่หมดขายได้ไหม ย้ำอีกครั้งชัดๆ ว่า ขายได้! หากไม่ได้ทำโดยพลการ ส่วนใครที่เข้าใจ เตรียมตัวพร้อมจะขายแล้วนั้น ก็ขอต้อนรับเข้าสู่ขั้นตอนต่อมา ซึ่งก็คือขั้นตอนการเตรียมเอกสารนั่นเอง
สำหรับการทำเรื่องขายรถที่ยังผ่อนไม่หมด ผู้ขายจะต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้ขาย ตัวรถ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเราเป็นผู้เช่าซื้อของรถคันนี้ ยิ่งในกรณีที่เราขายต่อทั้งที่ยังผ่อนไม่หมด เราก็ต้องมีหลักฐานที่แสดงให้ทราบยอดที่ปิดค้างไว้ และที่สำคัญที่สุด ผู้ขายควรถ่ายสำเนาเอกสารเก็บสำรองไว้ตลอด เพื่อเป็นหลักฐานป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันจากเอกสารสูญหายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
มาดูรายชื่อเอกสารสำคัญเบื้องต้นที่จะต้องเจอในขั้นตอนการขายรถที่ยังผ่อนไม่หมดให้กับผู้ซื้อต่อ ซึ่งจำนวนชุดของแต่ละเอกสารนั้น อาจแตกต่างกันไปตามกระบวนการทำงานของแต่ละบริษัทจัดไฟแนนซ์
เอกสารสำหรับขายรถให้กับเต็นท์รับซื้อรถ หรือศูนย์บริการ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขาย
- สลิปเงินเดือน หรือหนังสือรับรองเงินเดือน
- ทะเบียนรถฉบับจริง ที่มีรายละเอียดครบถ้วน ได้แก่ รุ่นรถ สี เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ ประวัติการต่อภาษี และชื่อเจ้าของรถ
- แบบคำขอโอนกรรมสิทธิ์
- สัญญาซื้อขาย ระหว่างผู้ขายและผู้ที่ซื้อรถดาวน์ต่อ และ สัญญเช่าซื้อรถยนต์ หรือ สัญญาไฟแนนซ์ ที่ทำกับบริษัทรถยนต์ที่จัดไฟแนนซ์
- เอกสารสำรองเพิ่มเติม เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ หนังสือมอบอำนาจ สัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อ เอกสารประกันภัยรถยนต์ เป็นต้น
เอกสารสำหรับส่งต่อสัญญารถยนต์ เพื่อเปลี่ยนชื่อผู้เช่าซื้อ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เช่าซื้อเดิม (ผู้ขาย) ผู้เช่าซื้อใหม่ (ผู้ซื้อต่อ) และผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี)
- หลักฐานทางการเงิน เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือน ของผู้ที่เช่าซื้อคนใหม่ และผู้ค้ำประกันคนใหม่ (ถ้ามี)
- ช่องทางติดต่อของผู้เช่าซื้อคนใหม่ เช่น เบอร์โทรศัพท์ แผนที่ของที่อยู่ปัจจุบัน
- ลอกลายเลขตัวถังรถคันที่เช่าซื้อ
3 สิ่งที่ควรทำก่อนปล่อยรถที่ยังผ่อนไม่หมด
เมื่อจะขายรถที่ยังผ่อนไม่หมดออกไปแล้วนั้น ไม่ใช่แค่เพียงหาคนซื้อต่อ แล้วจะขายไปได้เลย เราต้องเช็กรถของตัวเองให้ดีก่อนเพื่อให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด ไม่เสี่ยงกับการถูกตีราคาต่ำ รวมถึงการตัดสินใจของคนที่จะมาซื้อต่อด้วยเช่นกัน มาดูกันว่าเราจะดูแลรถก่อนปล่อยขายให้กับคนที่ซื้อต่ออย่างไรได้บ้าง
-
ทำความสะอาดให้เรียบร้อย
เป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำก่อนขายรถที่ยังผ่อนไม่หมดออกไป คือ คุณควรทำให้สภาพรถดูดีและสมบูรณ์ เพราะรถที่ดูสะอาดเหมือนใหม่จะช่วยสร้างความประทับใจแรกต่อคนที่เห็นได้ แสดงถึงความใส่ใจของผู้ใช้ และรถที่อยู่ในสภาพดี ก็มีแนวโน้มจะได้รับการประเมินราคาที่ดีตามกันไป
-
ตรวจสอบระบบภายในรถ
เมื่อเราทำความสะอาดภายนอกสวยเหมือนใหม่แล้ว รถจะดูดีแค่เพียงภายนอกไม่ได้ ระบบต่างๆ ต้องยังคงสภาพที่ดี และสามารถใช้งานได้ปกติ มีประสิทธิภาพ หากมีส่วนไหนที่ผิดปกติ เช่น รถสตาร์ทไม่ติด แอร์รถไม่เย็น หรือยางรถยนต์เสื่อมสภาพ ก็ควรซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อนนำมาขาย โดยที่ราคาค่าซ่อมควรอยู่ในงบประมาณที่กำหนดไว้
-
เคยชนหรือเคยซ่อมก็ต้องแจ้ง
ให้ลองนึกถึงตอนตัวเราไปซื้อรถมือสอง เราก็คงอยากทราบประวัติความเป็นมาของรถใช่ไหม เช่นเดียวกันกับตัวเราในฐานะที่เป็นผู้ขาย การแจ้งว่ารถเคยชนหรือเคยซ่อมเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ขายควรเตรียมเอกสารและหลักฐานให้ครบถ้วน ซึ่งหลักฐานนั้นเป็นได้ทั้งรูปถ่ายสภาพก่อน-หลังซ่อม ใบเสร็จอู่ซ่อม หรือหลักฐานอื่นๆ ที่แสดงว่าผ่านการซ่อม เพราะการตีราคานั้น เป็นสิ่งที่ทางศูนย์ หรือบริษัทที่รับซื้อให้ความสำคัญ และตรวจสอบอย่างละเอียด การแจ้งล่วงหน้าและแสดงหลักฐานที่ครบถ้วนจะสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้การขายราบรื่นมากยิ่งขึ้น
สรุป
หลายๆ คนคงจะคลายข้อสงสัย “รถยังผ่อนไม่หมดขายได้ไหม?” ได้แล้วว่า ไม่ควรขายโดยพลการ เพราะรถที่ยังผ่อนนั้น ไม่นับว่าเป็นของเรา รวมถึงได้รู้วิธีการขายรถที่ยังผ่อนไม่หมดให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการขายรถที่สำคัญ คือ การเตรียมเอกสารให้ครบ เพื่อที่จะได้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องและราบรื่น หมดปัญหาการดำเนินการไม่ยืดเยื้อเพราะปัญหาเอกสาร และท้ายที่สุดคือการบำรุงรักษารถก่อนขายต่อ เช่น การทำความสะอาดรถ ตรวจสอบระบบต่างๆ ซึ่งการแจ้งให้ผู้ซื้อทราบว่าเคยชน หรือเคยซ่อมมาก่อนนั้น จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในการขาย ป้องกันไม่ให้ศูนย์รถที่ไม่น่าไว้ใจถือโอกาสนี้ในการกดราคารถได้เช่นกัน